เรื่องเพศหลากเฉดสีกับนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผิดตรงไหน!
ที่ไม่ได้เป็นชายหญิงทั่วไป…
เรื่องเพศเป็นเรื่องที่พูดถึงได้หลากมุมมอง อยู่ที่ว่าจะพูดมุมไหน
โลกใบนี้ไม่ได้มีแค่เพศหญิงและเพศชาย ยังมี เกย์, ทอม, ดี้, กะเทย, ทอมเกย์, ไบ, โบ้ท, เลสเบี้ยน, แองจี้, เชอรี่, อดัม ฯลฯ
ไม่ว่าจะเป็นกะเทยเชอรี่ หรืออดัม ก็ไม่สำคัญเท่าเป็นมนุษย์
แล้วทำไมคนในสังคมจำนวนหนึ่ง จึงมองแค่เปลือก…ดูถูก ดูแคลน เหยียดหยามเพศที่แตกต่างจากเพศทั่วไป โดยไม่ได้มองบริบทอื่นๆ
“สังคมไปตีตราผ่านการเรียกชื่อ บอกว่าวิปริตบ้าง ผิดเพศ เบี่ยงเบนทางเพศ เป็นคนน่าสมเพช ตุ๊ด แต๋ว คำเหล่านี้เป็นวาทกรรม ไม่ได้มาจากพันธุกรรม” ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าว เมื่อการสนทนาเริ่มออกรส
นอกจากเป็นนักวิชาการด้านมนุษยวิทยา เขายังดำรงตำแหน่งอนุวิชาการ สมาคมเพศวิถีแห่งประเทศไทย และอาจารย์พิเศษ วิชาเพศวิถีศึกษา มีผลงานบทความมากมายและหนังสือหลายเล่ม อาทิ เพศในเขาวงกต,เมื่อร่างกลายเป็นเพศ อำนาจเสรีนิยมใหม่ของเพศวิถีในสังคมไทย ฯลฯ
ถ้าเชื่อว่า สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เปลือก แต่อยู่ที่การกระทำ ก็ลองอ่านบทสนทนานี้ต่อไป…
ก่อนหน้านี้อาจารย์ไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ?
เพิ่งมาเปิดตัวตอนอายุ 27 ก่อนหน้านี้ก็อยู่ในสังคมผู้หญิงผู้ชายทั่วไป แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราเป็น เราต้องกล้าวิพากษ์ตัวเองก่อน ถ้าเราไม่กล้าออกมาเผชิญโลก เราจะอยู่ในสังคมผู้หญิง ผู้ชายได้หรือ
เมื่อเปิดตัวชัดเจน แล้วเป็นอย่างไรบ้าง
เปิดทุกสิ่งทุกอย่าง เปิดความคิด ทำให้เราเจอคนหลากหลายรูปแบบ ได้ลงไปคลุกคลีกับปัญหาคนที่เรียกตัวว่าเกย์ เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว (ก่อนปีคศ. 2000) ไม่มีนักวิชาการคนไหนออกมาเขียนงานคนหลากหลายทางเพศเลย
ผลงานชิ้นแรกที่ผมเขียนลงวารสาร เรื่องเซ็กซ์ กามารมณ์ของเกย์ เป็นงานวิชาการที่ให้มุมมองใหม่ๆ เกย์กับวัฒนธรรมบริโภค ซึ่งมุมมองแบบนี้เขียนมานานแล้ว ก็เลยเปิดพื้นที่ คนก็เชิญไปบรรยาย จนทำให้คนรู้จักมากขึ้น รู้สึกสนุกที่ได้ใช้ความรู้ สิ่งที่อยู่กับเราทั้งชีวิตเปิดออกมาในมุมวิชาการ ทำให้คนรู้จักเรา ซึ่งนักศึกษารุ่นใหม่อยากอ่านงานพวกนี้ ก็ตามอ่านงานของเรา สื่อที่นำเสนอเรื่องพวกนี้ก็มีมากขึ้น
เคยเจอแรงต้านจากครอบครัวบ้างไหม
ครอบครัวก็เคยบอกเราว่า อย่าเป็นคนผิดเพศ พอเราทำงานรับผิดตัวเองได้ ก็ไม่พูดแล้ว เพราะเห็นว่า เราเป็นเด็กเรียน และการทำงานวิชาการ เราก็เห็นว่าท้าทายความคิด เราก็สนใจด้านประวัติศาสตร์ และมนุษยวิทยา ชอบเขียนหนังสือ
ตอนที่เราจบปริญญาโท แล้วทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ ก็คิดว่า ถ้าเราไม่ยอมรับตัวเอง แล้วจะไปวิพากษ์ใครได้ เราก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เราเป็นก่อน ถึงจะกล้าวิพากษ์ปัญหาอื่นๆ ในสังคม
ความหลากหลายทางเพศ เรื่องใดที่ถูกมองอย่างอคติมากที่สุด
คงเป็นเรื่องที่มองว่า คนพวกนี้มีจิตใจผิดปกติ อารมณ์รุนแรง สับสน เพราะคนส่วนใหญ่เห็นตัวอย่างจากสื่อ คิดว่าคนพวกนี้อยู่ในวัฏจักรที่ล่อแหลม เสี่ยงอันตราย หรือมองว่าคนพวกนี้เป็นต้นตอของการละเมิดทางเพศ จริงๆ แล้วคนในแวดวงนี้ ก็มีความหลากหลายเหมือนคนทั่วไป
คนส่วนใหญ่บอกว่าเปิดกว้างเรื่องนี้ แต่เวลาพูดและทำ กลับสวนทางกัน ?
เป็นสังคมที่ย้อนแย้ง บางพื้นที่พูดกันสนุกสนาน บางพื้นที่พูดไม่ได้เลย ยกตัวอย่าง ถ้าเรามีเกย์เป็นนายกรัฐมนตรี สาวประเภทสองเป็นรัฐมนตรี คนก็จะบอกว่าเป็นตัวอย่างไม่ดีของสังคม ทำไมเอาคนพวกนี้มาเป็นผู้ปกครอง แสดงว่าสังคมไม่ยอมรับ แม้จะมีทูตหลายประเทศเปิดตัวว่า มีแฟนเป็นคนเพศเดียวกัน
คำกล่าวที่ว่า “การเบี่ยงเบนทางเพศไม่ได้มาจากพันธุกรรม” อาจารย์มีคำอธิบายอย่างไร
มาจากวาทกรรม สังคมไปตีตราผ่านการเรียกชื่อ บอกว่า วิปริตบ้าง ผิดเพศ เบี่ยงเบนทางเพศ เป็นคนน่าสมเพช ตุ๊ด แต๋ว คำเหล่านี้เป็นวาทกรรม ไม่ได้มาจากพันธุกรรม คนที่เกิดมา มีจิตใจไม่ได้เป็นไปตามเพศกำเนิด จึงไม่ได้สืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย แต่มาจากประสบการณ์ของแต่ละคน เขาเลือกเอง ถ้าพ่อแม่เข้าใจก็ดี ถ้าไม่เข้าใจ ด่าว่า ตำหนิ ยิ่งทำให้มีแรงเสียดทาน
เป็นการมองแบบเหมารวมแง่ลบมากกว่าบวก ?
ยกตัวอย่างชุมชนเกย์เติบโตและขับเคลื่อนด้วยระบบบริโภคนิยม สถานประกอบการบาร์ ผับ นำเสนอชีวิตเกย์ผ่านเซ็กซ์ ก็เลยเหมารวมว่า เกย์บ้าเซ็กซ์ ส่วนถูกคือสถานประกอบเหล่านี้ทำให้สินค้าที่โชว์เรื่องเซ็กซ์ครอบงำชีวิตเกย์ เกย์จำนวนหนึ่งก็ให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตามากกว่าคบกันด้วยความรู้สึก เกย์เยาวชนเห็นตัวอย่างจากสถานประกอบการเหล่านี้ ซึ่งส่อไปทางเซ็กซ์เยอะมาก เป็นต้นเหตุเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน ส่วนหนึ่งก็มีอยู่จริง แต่ไม่ใช่เกย์ทุกคน ยังมีเกย์ที่ทำงานเพื่อสังคม
กลุ่มเกย์ที่ทำเรื่องดีๆ เพื่อสังคม ก็มีไม่ใช่น้อย ?
มีเกย์ที่แฝงตัวทำงานเพื่อสังคมในองค์กรต่างๆ แต่ไม่มีการรวมตัวเป็นองค์กรใหญ่ ต่างจากอเมริกา ยุโรป ที่มีกลุ่มเกย์รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหายาเสพติด สิทธิมนุษยชน หรือแคมเปญต่อต้านการคอร์รัปชัน แต่เกย์ในเมืองไทยยังอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ไม่ค่อยออกมาเคลื่อนไหว
คิดจะทำเรื่องเหล่านี้ไหม
ก็อยากทำนะ รวมกลุ่มทำงานเพื่อสังคม แต่ต้องมีความพร้อม ผมเคยแนะนำเยาวชนในมหาวิทยาลัย อยากให้มีชมรมนักศึกษาหลากหลายทางเพศ ทำงานจิตอาสาเพื่อสังคม ในตะวันตกยังมีชมรม LGBT ทำงานขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ
เรื่องเพศ เรื่องเซ็กซ์ เป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่กล้าพูดในพื้นที่สาธารณะ แต่ทำกันลับๆ รวมถึงเพศนอกจารีตประเพณีทั้งหลาย จะถูกละเมิด เหยียดหยาม และถูกปิดกั้น คนพวกนี้ก็ไม่กล้าแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ เพราะกลัวจะถูกมองว่าผิดปกติ คนพวกนี้ถ้าทำงานในระบบราชการ สถานะภาพก็ยังไม่ดี และในโรงเรียนดังๆ มีกฎว่า ห้ามคนพวกนี้มาสมัครเป็นครู พวกเขาไม่ได้ดูคนที่ความสามารถ เรื่องเหล่านี้เราจึงต้องวิพากษ์มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศนอกจากงานวิชาการที่ทำเรื่องความหลากหลายทางเพศ อาจารย์อยากทำอะไรเพื่อคนกลุ่มนี้อีก
อยากรณรงค์ให้คนหลากหลายทางเพศ เห็นการเหยียดหยามดูถูกของคนกลุ่มเดียวกันมากขึ้น ยกตัวอย่างในกลุ่มเกย์ ก็มีการแบ่งแยกชนชั้น เกย์รวยกับเกย์จน กระเทยสวยและกระเทยที่ยากจน ในชุมชนหลากหลายทางเพศก็มีความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งสังคมมองไม่เห็น เพราะดูจากสื่อกระแสหลัก จึงคิดว่า เกย์ กระเทย ทอม ดี้ ชีวิตก็ดีอยู่แล้ว รวย แต่มีมิติลึกลงไปอีก ยังมีกระเทย ทอม ดี้ ชนชนแรงงาน ชายขอบอีกเยอะ
ความเข้าใจเรื่องเพศ ยังเป็นปัญหามากน้อยเพียงใด
สังคมไทยยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเรื่องเพศ มองว่า คนที่มีจิตใจไม่ตรงกับเพศสรีระของตัวเอง เป็นพวกวิปริต ผิดปกติ สาเหตุมาจากฮอร์โมน การเลี้ยงดู พันธุกรรม ซึ่งเป็นความเข้าใจไม่ตรงนัก ทำให้เด็กเกิดมามีปมด้อย พ่อแม่ก็จะกลัวว่าลูกโตขึ้นจะไม่มีความสุข ทำให้สังคมเดือดร้อน อคติแบบนี้จะฝังอยู่ในเรื่องเพศ
เวลาเขียนบทความหรืองานวิจัย เราก็เอาปัญหาตรงนี้มาชี้ให้เห็น เราต้องไปร่วมมือกับองค์กรที่สร้างนโยบายสังคม ซึ่งตอนนี้ไม่มีเวทีเวิร์คชอป เพราะหน่วยงานรัฐคิดว่าเรื่องเพศไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในสังคม แต่เป็นปัญหาปากท้อง
เท่าที่ผ่านมาบทความชิ้นไหนของอาจารย์ที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้บ้าง
น่าจะเรื่องการรณรงค์ให้เกย์มีเซ็กซ์ที่ปลอดภัย เพราะการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ทำให้เสี่ยงติดโรค การแก้ปัญหาทุกวันนี้แก้ไม่ตรงจุด ไม่เข้าใจบริบทวัฒนธรรมของเกย์ไทย เงื่อนไขที่ทำให้คนมีเซ็กซ์กลายเป็นเรื่องปกติ เพราะมีแอพลิเคชั่น นัดเจอกันง่ายๆ หรือสื่อธุรกิจเร้าให้คนมีเซ็กซ์ กลายเป็นช่องว่างที่คนกลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันให้กลุ่มเกย์ไปตรวจเลือด แต่ไม่เข้าใจสิ่งเร้าที่ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่วงจรเหล่านี้ เรื่องนี้ยังเหมือนเดิม และสถิติเกย์ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกย์รุ่นใหม่มองว่า เป็นเอดส์ไม่ตายแล้ว เหมือนโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง
ผมเองเคยทำงานวิชาเรื่องความเคลื่อนไหวของเกย์ในประเทศไทย เมื่อ 8 ปีที่แล้ว และมองว่าสังคมไทยยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเรื่องเพศ น่าสนใจว่า การรวมตัวของเกย์เป็นไปเพื่อความสนุกสนานมากกว่า มีจัดประกวด จัดปาร์ตี้สังสรรค์ และเกย์ที่ทำงานเพื่อสังคมก็มีอยู่ แต่ไม่มาก
ประเด็นหลักที่อาจารย์คิดว่า ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือเรื่องใด
การผลิตซ้ำมายาคติตำราที่สอนในโรงเรียน ตั้งแต่มัธยมถึงมหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างในตำราเรียน มีการนิยามเรื่องความผิดปกติทางเพศ เกย์ กระเทย คือพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ และสังคมไทย น่าจะมีชมรมหรือสโมสรนักเรียนนักศึกษาหลากหลายทางเพศ หรือชมรมพ่อแม่ที่มีลูกหลากหลายทางเพศ การทำงานกับพ่อแม่ก็สำคัญ เพราะมีอิทธิพลต่อลูก ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ เด็กก็จะเข้าหาเพื่อนหรือสื่ออื่นๆ
ปัญหาหลักในชุมชนหลากหลายทางเพศ อาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องอะไร
อย่างกระเทยยากจนไร้บ้าน ก็จะถูกตีตราไปอีกว่า ยากจนแล้วยังผิดปกติ เสี่ยงถูกทำร้ายมากกว่าคนทั่วไป เป็นปัญหาสะสมมานาน ปัจจุบันยังไม่มีองค์กรเกย์กระเทยที่ไหนลุกขึ้นมาทำงานจริงจัง นอกจากเรื่องสิทธิทางกฎหมาย และการแต่งงานของเพศเดียวกัน เรื่องนี้จึงขาดการเชื่อมโยงให้เห็นว่า กลุ่มพวกเดียวกันมีปัญหาอะไรบ้าง แต่ไปมองว่า ควรให้โอกาสเกย์ในบางอย่าง
ปัญหาเรื่องเพศ ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการให้ความรู้อย่างไร
ถ้าจะสอนเรื่องเพศ ต้องปฎิรูปการศึกษาให้ความรู้ตั้งแต่อนุบาล
ตอนเก็บข้อมูลเรื่องความหลากหลายทางเพศ อาจารย์เจอเรื่องที่ไม่คาดคิดอะไรบ้าง
เด็กมัธยมอยากสวยหล่อแบบเกาหลี ซื้อโบท็อกซ์มาฉีดเอง บางคนก็ซื้อยามากินเอง เดี๋ยวนี้มีการสร้างกลุ่มไลน์ที่มีเครือข่ายของการมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น บางคนทำเป็นธุรกิจ ขนาดที่ว่าเอาคลิปตอนมีเซ็กซ์ไปขาย ใครอยากดูต้องเสียเงินในออนไลน์
ทั้งเกย์ ทอม ดี้ และทุกเพศ สนใจการทำศัลยกรรมความงาม เปลี่ยนรูปลักษณ์ตัวเองให้หล่อสวยแบบอุดมคติ มีร่างกายเซ็กซี่ตามอุดมคติด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ตกอยู่ในวิธีคิดแบบนี้
และคนรุ่นใหม่ เข้าสู่วงจรของการบริการทางเพศเร็วขึ้น บางครั้งไม่ต้องเป็นเกย์ ก็พร้อมจะมีเซ็กซ์กับผู้ชายด้วยกัน คลิปที่เด็กผู้ชายมีอะไรกัน เด็กๆ ก็คิดว่าตัวเองได้ทั้งเงินและคนยอมรับ บางคนเป็นไอดอลไปเลย เด็กผู้ชายหน้าตาดีก็ได้รับการยอมรับ ถ้าโด่งดังแล้วก็มีการไลฟ์สดจากออนไลน์
ต้องแก้ปัญหานี้อย่างไร
ปัญหาซับซ้อนมาก เพราะสังคมออนไลน์เป็นตัวกระตุ้นได้เร็ว ซึ่งเป็นทั่วโลก และทักษะการใช้ออนไลน์แต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าพื้นฐานของเด็กขาดแคลนเรื่องเงิน ผู้ใหญ่บางคนเอาเซ็กซ์มาล่อ เรื่องนี้แก้ยาก
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/788028
Featured Author
ดร.นฤพล ด้วงวิเศษ
Proin eget tortor risus. Praesent sapien massa, convallis a pellentesque nec, egestas no